ที่มาและความสำคัญของโครงการ
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองเห็นความสำคัญในการพัฒนาและการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านปัญญาประดิษฐ์โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบมีจริยธรรมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Understanding Artificial Intelligence ethics in the New S-Curve Industries)” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งในการรองรับเทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ ที่กำลังจะมีบทบาทอันสำคัญในปัจจุบันและอนาคตต่อไปข้างหน้า การพัฒนาความรู้และหลักปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) ซึ่งศึกษาและนำเสนอโดย สำนักงานกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม ในการให้ความสำคัญตั้งแต่ ผู้กำกับ ดูแลนโยบายและการส่งเสริม ซึ่งเป็นบุคคลต้นทางที่จะต้องรับรู้และเข้าใจความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และจริยธรรม เพื่อกำกับดูแล นักพัฒนา นักวิจัย ผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นบุคลากรกลางทางที่จะเป็นผู้พัฒนาและสร้างสรรค์ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมตามเป้าหมายและสอดคล้องกับแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นบุคคลปลายทาง ได้บริการ หรืออุปกรณ์ที่สอดคล้องตามมาตรฐานและแนวทาง ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย มั่นคง และรักษาข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ จึงเกิดโครงการในการดำเนินการสร้างความตระหนักรู้ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบมีจริยธรรมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Understanding Artificial Intelligence ethics in the New S-Curve Industries) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ให้กับบุคลากรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของกระบวนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเป็นการการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมในประเทศไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาคม สมาพันธ์ และประชาชน และในระดับสากลต่อไป
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อ้างอิงจากเล่ม
ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับรากฐาน เศรษฐกิจระดับกลาง จนถึงระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมองเห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยอันสำคัญ ที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทย มีความก้าวหน้า เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทันต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทในสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากลได้ ดังนั้น ในการกำหนดนโยบายในระดับประเทศจนถึงระดับหน่วยงานภาคปฏิบัติจึงให้ความสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริม การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จาก
1. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
ได้เน้นในเรื่องของการพัฒนาประเทศไทยจะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมียุทธศาสตร์หลักในการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญยิ่ง คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการกำหนดประเด็นยุทธศาตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกล่าวถึง เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขาศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ไว้ดังนี้
a. อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยสร้างอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยมีองค์ประกอบ 5 อย่าง ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบเหล่านั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์
b. พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีอัตลักษณ์ชัดเจน (๑) สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ (๒) สร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน (๓) สร้างโอกาสเข้าถึงตลาด (๔) สร้างโอกาสเข้าถึงข้อมูล และ (๕) ปรับบทบาทและโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ
2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ได้จัดทำบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)
ซึ่งเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) รวมทั้งการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อมุ่งสู่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 นี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ไว้ใน ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ในส่วนของแนวทางการพัฒนา หัวข้อ 3.1.2 โดยสังเขปว่า ให้มีการเร่งส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาและผลักดันสู่งการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม โดยเน้นการลงทุนวิจัยและพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีนำสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด อันได้แก่ เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวเป็นต้น
3. นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดว่า “เพื่อให้การพัฒนาดิจิทัลเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นส่วนรวม ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การประกาศใช้และการแก้ไขปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ในส่วนของ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นแผนแม่บทหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ที่กำหนดทิศทาง การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น นโยบานและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 6 ด้านตามรูปที่ 1-1 โดยในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมใน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในส่วนแผนงานที่ 4 พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในอนาคต